เมื่อรัฐบาลโดยศูนย์ COVID19 ประกาศขอความร่วมมือองค์กรต่างๆ ให้ใช้มาตรการ Work from Home เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการแพร่กระจายและติดเชื้อ COVID19 สิ่งแรกที่เกิดขึ้นในความคิดของเรา คือ Work from home มาเร็วขึ้นกว่าที่คิดอย่างน้อย 1-2 ปี ไวรัสร้าย นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่เราคุ้นชิน คำถามที่ซ้อนทับขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกันคือ องค์การ –HR– คนทำงาน ในเมืองไทยพร้อมกับ Work from Home แล้วหรือยัง ? มากไปกว่านั้น PMAT ในฐานะสมาคมวิชาชีพของนักทรัพยากรมนุษย์ มุ่งทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำ เกี่ยวกับการจัดการคนเมื่อพนักงานต้องทำงาน Work from Home เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีและไม่เป็นการเพิ่มปัญหาให้องค์กรในภาวะวิกฤต
PMAT ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับการทำงาน Work from Home เป็นการเก็บข้อมูลในช่วงสั้นๆ ระหว่าง 17-24 มีนาคม 2563 โดยถามถึงความพร้อมและความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงาน Work from Home มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทำงานในกรุงเทพ ปริมณฑล และ เขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานในพื้นที่ที่มีการขอให้ใช้มาตรการ Work from Home มีผู้ตอบแบบสอบถามที่สมบูรณ์เข้ามา 272 คน ผลการสำรวจมีสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้
COVID19 ทำคนทำงาน มากกว่า 1 ใน 3 ต้อง Work from Home
7 วันหลังจากมีการขอความร่วมมือให้องค์กรใช้มาตรการ Work from Home มีจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 37% ของผู้ตอบแบบสำรวจตอบสนองมาตรการทำงานแบบ Work from Home ในจำนวนนี้ 46 คนเป็นผู้ที่ทำงานด้วยรูปแบบ Work from Home มาก่อนที่รัฐจะมีมาตรการขอความร่วมมือ
Work from Home ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่คุ้นเคย
ผู้ตอบแบบสำรวจ 52% เคยทำงานแบบ Work from home มาก่อน และ 15% ทำงาน Work from Home อยู่แล้ว ที่น่าสนใจคือ มีถึง 1 ใน 3 ที่ต้องทำงาน Work From Home ทันทีโดยที่ยังไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน โดยที่ภาพรวมแล้วองค์กรของผู้ตอบแบบสำรวจมีเพียง 39% เท่านั้นที่มีการวางแผน Work from Home ก่อนเกิดการระบาดของ COVID19 และขณะนี้องค์กรส่วนใหญ่คิดเป็น 69% ใช้วิธีให้พนักงานบางส่วนทำ Work from Home ส่วนที่เหลือยังทำงานรูปแบบปกติ
ความกังวลของคนทำงานเมื่อต้องทำงาน Work from Home มีถึง 61% ที่คิดว่าอุปกรณ์ และ ทรัพยากรต่างๆไม่เพียงพอต่อการทำงานเมื่อต้องทำงานที่บ้าน กว่าครึ่งหนึ่งกังวลเรื่องการประเมิน และ การจ่ายค่าตอบแทน ส่วนที่กังวลว่าผลงานจะออกมาไม่ดีเมื่อเทียบกับการทำงานรูปแบบปกติคิดเป็น 47% นอกจากความกังวลหลักแล้วยังมีความกังวลอื่นๆ เช่น กว่า 43% คิดว่าบ้านของตนเองมีสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการทำงาน กว่า 1 ใน 3 กลัวว่าจะมีปัญหาด้านการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน ทำให้การทำงานเกิดข้อผิดพลาด และ กังวลว่าตัวเองจะไม่สามารถทำงานได้ตามระยะเวลาทำงานปกติเมื่อเทียบกับการไปทำงานที่ออฟฟิส รวมถึงมีความกังวลว่าจะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเมื่อต้องทำงานที่บ้านคิดเป็น 23%
Work from Home จะเวริ์กได้ องค์การ – HR – คนทำงาน ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ระบุว่า มีหลายปัจจัยต่อไปนี้ส่งผลต่อการทำให้การทำงานแบบ Work from home ประสบความสำเร็จ ในระดับมากและมากที่สุด แบ่งเป็นรายด้าน ดังนี้
ด้านทรัพยากร การสนับสนุน ค่าใช้จ่ายสำหรับการติดต่อสื่อสาร ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อต้องติดต่องานด้วยเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นและองค์การไม่ควรผลักให้เป็นภาระของพนักงาน
ด้านระบบการให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในการทำงาน ประกอบด้วย Collaboration Platform สำหรับการสื่อสารผ่านทางไกล การมี Coach หรือที่ปรึกษาในการทำงาน หรือ มี Chatbot ที่ให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำได้ในทันทีจะทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงานและทำให้กระบวนการทำงานไม่ติดขัด
ด้านความชัดเจนของการประเมินผลงาน เมื่อต้องเปลี่ยนจากการทำงานปกติ กระบวนการทำงานเดิมจะถูกปรับเปลี่ยนไป เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้ถูกต้องพนักงานต้องการ Platform สำหรับการทำงาน การติดตามงาน และต้องการหลักเกณฑ์ในการประเมินผลงานที่ชัดเจน ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของ HR และหัวหน้างานที่ต้องมีการออกแบบ PMS ที่สอดรับกับการทำงานรูปแบบใหม่
ด้านการส่งเสริมบรรยากาศให้เหมาะกับการทำงาน ไม่ใช่ทุกคนที่มีบ้านเหมาะแก่การทำงาน สภาพแวดล้อมอาจไม่เอื้ออำนวย การจัดบรรยากาศการทำงานในบ้านเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่องค์กรควรให้คำแนะนำ และเมื่องานและบ้านอยู่ในที่เดียวกันแต่มนุษย์ต้องการความชัดเจนของเวลางานและเวลาส่วนตัวการแยกเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวออกอย่างชัดเจนเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พนักงานต้องการ
เมื่อวิกฤตผลักดันให้คนทำงานต้องปรับตัว สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการเรียนรู้ที่จะปรับตัวอย่างเหมาะสม การทำงานแบบ Work from Home แม้จะถูกกล่าวถึงในวงกว้าง ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ที่ผ่านมา หลายองค์การเชื่อว่าพนักงานทำงานที่ไหนก็ได้หากมีระบบการติดต่อสื่อสารที่ดี ยังมองอีกว่า การทำงานโดยไม่จำกัดแค่ใน
ออฟฟิส จะเป็นผลบวกต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ และรูปแบบ การทำงานแบบ Work from Home ยังเข้ากับ Life Style และ พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ แต่ไม่ใช่ทุกองค์กรที่พร้อมสู่การเปลี่ยนการทำงานแบบ Face to Face การติดต่อสื่อสาร ประสานงานแบบ office ไปเป็น online เมื่อถูกนำมาใช้จริงเนื่องจากสถานการณ์บีบบังคับเพราะ การระบาดของ COVID19 หลายองค์การถูกเร่งให้ทำ Work from Home ก่อนที่องค์กร คนทำงาน และ ฝ่าย HR จะได้เตรียมความพร้อม การเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ในด้านการจัดการการทำงานแบบ Work from Home และ การแสวงหาเลือกหาเครื่องมือที่จะช่วยให้การทำงาน Work from Home ในช่วงภาวะวิกฤตผ่านไปได้ด้วยดี เป็นสิ่งที่คน HR ต้องให้ความสำคัญ
PMAT โดยความร่วมมือของ Partners ที่หลากหลายจึงได้จัด Free Virtual Training: Work from Home Series ขึ้นโดยให้ผู้สนใจเข้ามาร่วมสัมมนาฟรี ผ่าน Digital Platform ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพลังฝ่าวิกฤตไปพร้อมกับทุกองค์กร ท่านสามารถติดตามข่าวสารตารางเวลา การนำเสนอ Free Virtual Training: Work from Home Series ได้ทาง Social Media ของ PMAT ทั้ง
Official Line: @pmat
Official Facebook : https://www.facebook.com/pmatHRsociety/