การบริหารค่าตอบแทนในยุคนี้ จะทำกันแบบเล่นๆ หรือบริหารกันตามความรู้สึกของผู้บริหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว
เราจำเป็นที่จะต้องอาศัยข้อมูลการแข่งขัน จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดนโยบายและแนวทางในการบริหารค่าตอบแทนกัน
อย่างจริงจัง เพื่อสร้างความได้เปรียบในการบริหารคนขององค์กร
สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารจะต้อง “ตัดสินใจ” เรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนจะมีหลักๆ อยู่ 3 ประการคือ
- ระดับในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน (Pay Level)
ระดับในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายและกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจของบริษัท ดังนั้นระดับการจ่ายของ
บริษัทที่ผู้บริหารจะต้องพิจารณานั้นก็คือ ระดับของการแข่งขันในการจ้างคนว่า เราแข่งกับตลาดกลุ่มใด และต้องการ
พนักงานที่มีคุณสมบัติแบบใด ฝีมือดีสักแค่ไหนด้วย - โครงสร้างของการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน (Pay Structure)
ต้องตัดสินใจให้ได้ว่า ลักษณะของการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทเรานั้น จะจ่ายอยู่บนพื้นฐานของอะไร การที่
พนักงานแต่ละคนหรือแต่ละตำแหน่งได้รับเงินเดือนที่แตกต่างกันนั้น ใช้อะไรเป็นหลักในการกำหนดความแตกต่างตรงนั้น
บางแห่งกำหนดความแตกต่างในการจ่ายบนพื้นฐานของอายุตัว อายุงาน บางแห่งก็กำหนดตามค่างาน ผลงาน และ
ความสามารถของพนักงาน เพื่อจะได้กำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือนได้อย่างสอดคล้องกับนโยบายที่ผู้บริหารกำหนดไว้
มิฉะนั้นการบริหารค่าจ้างเงินเดือนจะเกิดอาการขัดแย้งกันภายในบริษัทเอง - ระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน (Pay System)
ในเรื่องของระบบบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้นก็คงต้องเริ่มตั้งแต่ - พนักงานเข้ามาทำงานใหม่ เราจะมีระบบในการว่าจ้างพนักงานใหม่อย่างไร พนักงานใหม่แบบที่เพิ่งจบใหม่ ยังไม่เคย
มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน เราจะต้องเริ่มจ้างที่อัตราเท่าไร และพนักงานที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้ว
เราจะมีวิธีในการกำหนดอัตราค่าจ้างเงินเดือนอย่างไร - ถ้าโครงสร้างการจ่ายเป็นแบบเน้นค่างานเป็นหลัก สิ่งที่จะต้องทำต่อคือ หาระบบในการประเมินค่างาน และจัดทำ
โครงสร้างระดับงานตามคุณค่าของงานแต่ละตำแหน่งให้ชัดเจน เพื่อที่เป็นพื้นฐานในการกำหนดอัตราเงินเดือนของแต่ละ
ตำแหน่งงานตามความยากง่ายของงานต่อไป หรือถ้าเน้นแบบอาวุโส ก็จะได้กำหนดวิธีการในการกำหนดอัตราเงินเดือน
โดยเน้นอายุงานที่พนักงานทำงานมา เป็นพื้นฐานในการกำหนดอัตราการจ่ายเงินเดือน - หาข้อมูลของตลาดว่า ธุรกิจที่ใกล้เคียงกับบริษัทเรานั้นเขาจ่ายค่าจ้างเงินเดือนกันอย่างไร มากน้อยเพียงใด
- กำหนดโครงสร้างเงินเดือนตามพื้นฐานในการจ่ายที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก เช่น จ่ายตามค่างาน เราก็จะต้องทำโครงสร้าง
เงินเดือนที่สะท้อนค่างานของแต่ละระดับงานตามความยากง่ายของงาน หรือถ้าเป็นโครงสร้างตามอาวุโส เราก็จะใช้
จำนวนปีอายุงานเป็นเกณฑ์ในการกำหนดอัตราเงินเดือน - กำหนดวิธีการในการบริหารการขึ้นเงินเดือนให้ชัดเจน ว่าจะเป็นการขึ้นตามผลงานและความสามารถของพนักงาน
หรือขึ้นตามอายุงานเป็นหลัก เพื่อจะได้สร้างสรรค์วิธีการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการขึ้นเงินเดือนได้ตรงที่สุด
เมื่อผู้บริหารได้ฟันธงตัดสินใจในทั้ง 3 เรื่องแล้ว ฝ่ายบุคคลก็จะมีแนวทางในการบริหารค่าตอบแทนที่ชัดเจนมากใน
การบริหารค่าจ้างเงินเดือนพนักงาน โดยไม่จำเป็นต้องไปต่อสู้กับผู้จัดการฝ่ายอื่นๆ ในเรื่องของเงินเดือนพนักงาน
โดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนอีกต่อไป