การบริหารค่าตอบแทนเป็นเรื่องที่ผู้บริหารทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ ดังนั้น การติดตามแนวโน้มและความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจึงมีความจำเป็น เพื่อให้เกิดการวางแผนและการปฏิบัติอย่างมีกลยุทธ์
รศ.ดร.กัลยาณี คูณมี คณบดีคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงการบริหารค่าตอบแทนที่มีประสิทธิผลว่า ต้องให้ความสำคัญใน 3 ส่วนหลักคือ
1.ให้สิ่งจูงใจตามผลงาน(Performance-based incentives) ด้วยการแบ่งปันผลกำไร(Profit sharing) กับการถือหุ้นในบริษัท (Stock ownership)
2.การให้โบนัสโดยใช้วิธีการเชื่อมโยงเข้ากับกำไรของบริษัทหรือผลการปฏิบัติงานของบุคคล การเชื่อมโยงเข้ากับความสำเร็จในการดำเนินโปรเจ็คได้ตามกำหนดหรือก่อนกำหนด โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนหลังการจ้างงานเมื่อทำงานบรรลุผล
3.การให้ผลประโยชน์เกื้อกูลพิเศษ ที่ขึ้นอยู่กับความต้องการเฉพาะ เช่น เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น ห้องค้นคว้าสารสนเทศที่ทันสมัย โปรแกรมการดูแลสุขภาพแบบพิเศษ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การจ่ายค่าตอบแทนแก่พนักงานขายซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่สรรหาได้ยากและรักษาไว้ได้ยากที่สุดนั้น แนวโน้มที่เกิดขึ้นคือการจ่ายค่าตอบแทนตามมาตรฐานอาจไม่ได้ผล จะมีการอิงตามการจ่ายสิ่งจูงใจที่ผูกกับผลการปฏิบัติงานของแต่ละคนมากขึ้น สำหรับพนักงานขายที่อยู่ในระดับสูง การจ่ายค่าตอบแทนจูงใจอาจจะสูงถึงระดับเกินกว่า 40% ของค่าตอบแทนรวม ต้องรู้ว่าตำแหน่งงานขายไม่เหมาะกับทั้งการจ่ายเงินเดือนอย่างเดียวหรือการจ่ายคอมมิชชั่นอย่างเดียว' ส่วนใหญ่ใช้แผนการจ่ายแบบผสม การจ่ายเงินเดือนแบบแน่นอนสามารถเชื่อมกับผลงานในส่วนที่ไม่ใช่การขายโดยตรง เช่น การให้บริการลูกค้า และใช้การจ่ายคอมมิชชั่นการขายเพื่อกระตุ้นยอดขายโดยตรง รวมทั้ง มีแนวโน้มการเชื่อมโยงการจ่ายค่าตอบแทนของพนักงานขายเข้ากับการวัดความพึงพอใจของลูกค้ามีมากขึ้น