Artboard 1

• Talent Management ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษกิจสร้างสรรค์

บริษัทที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่พึ่งพา “คนเก่ง (Talent)” ในการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งและนำไปสู่การเจริญเติบโตที่เหนือธรรมดา จนกระทั่งได้จารึกร่องรอยไว้ในประวัติศาสตร์แห่งวงการธุรกิจ สร้างตำนานเรื่องเล่าที่ร่ำลือกันมิสิ้นสุด

   ในศตวรรษที่ 21 สงครามรักษาและแย่งชิงคนเก่ง ได้ทวีความรุนแรงยิ่งกว่ายุคสมัยใด โดยเฉพาะเมื่อโลกาภิวัตน์ได้ทำให้การคมนาคมของทั้งผู้คนและข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง จึงทำให้คนเก่งที่เคยต้องจองจำหมกตัวอยู่แต่ในบริษัทเดิมยาวนานหลายสิบปี สามารถย้ายสังกัดเปลี่ยนเจ้านายกันได้อย่างครื้นเครง แต่ท่ามกลางความสนุกสนานและผลตอบแทนที่ทวีคูณจากการเดินเล่น ได้กลับเป็นต้นทุนและน้ำตาของบริษัทที่เคยภูมิใจในอดีตยิ่งใหญ่แต่ไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันยุคสมัยโลกาภิวัตน์ที่ร้อนแรงและเชี่ยวกรากได้

   การบริหารจัดการคนเก่ง (Talent Management) จึงกลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากองค์กรธุรกิจทั้งหลายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะยุคเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสารที่ความชาญฉลาดล้ำเลิศของคนเก่งสามารถทวีกำไรให้กับบริษัทอย่างล้นเหลือ ในขณะที่สินค้าและบริการไม่ต้องถูกจองจำด้วยขีดจำกัดทางกายภาพเหมือนยุคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอีกต่อไป

   ยิ่งกว่านั้น การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ที่สินค้าและบริการมีลักษณะเป็นนามธรรมเช่นเดียวกับเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสาร ก็ยิ่งช่วยเสริมแรงให้การแย่งชิงคนเก่งในบริษัททั้งหลายทวีความเข้มข้นร้อนแรงถึงขีดสุด

   ภาวะไร้ตัวตนของสินค้าและบริการในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้ทำให้การมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอในการประสบความสำเร็จ เพราะคู่แข่งอาจเลียนแบบและพัฒนาต่อยอดได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน การสร้างจุดแข็งที่เลียนแบบไม่ได้จึงต้องมุ่งเน้นไปที่เอกลักษณ์และคุณค่าทางนามธรรมมากยิ่งขึ้น

   โลกทัศน์แบบเดิมที่มองว่า “พนักงาน คือ สินทรัพย์ของบริษัท” กำลังล้าสมัยลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพนักงานระดับ Talent ที่ต้องการโอกาสและความท้าทายตลอดเวลา จึงมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปสู่อ้อมกอดของบริษัทใหม่ภายในเวลาแสนสั้น ซึ่งทำให้บริษัทที่มีโลกทัศน์แบบเดิมต้องหลั่งน้ำตาในการสูญเสียสินทรัพย์ที่ดีที่สุดไป โดยไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายที่คุ้มค่ากับงบประมาณที่บริษัทได้ลงทุนไปในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ชั้นเลิศ

   ยุทธศาสตร์ในการบริหารคนเก่งจึงต้องมีการพลิกแพลงให้สอดคล้องกับบริบทการแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทรัพยากรมนุษย์มีการเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็ว โดยเปลี่ยนจากการบริหารเฉพาะพนักงานภายในองค์กรมาเป็นการบริหารเครือข่าย “ข้อมูลและทรัพยากรมนุษย์” จากทั่วทุกมุมโลก เพื่อนำมาสังเคราะห์เป็นผลิตภัณฑ์นามธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นซึ่งคู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนแบบได้

   การแสวงหา Creative Talent เพื่อมาร่วมผลิตสินค้าในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงไม่ควรติดกับดักของวิธีคิดแบบ “พนักงาน คือ สินทรัพย์ของบริษัท” แต่ควรที่จะเปิดใจกว้างในการสร้างเครือข่ายของข้อมูลและทรัพยากรมนุษย์จากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะเมื่อวิธีคิดของ Creative Talent ไม่ได้จำกัดอยู่ในองค์กรที่สังกัดเหมือนกับพนักงานทั่วไป ดังนั้น หากคนเก่งของบริษัทหนึ่ง ได้ตัดสินใจย้ายไปทำงานที่บริษัทคู่แข่ง ย่อมไม่ได้หมายความว่าบริษัทเก่าจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากมันสมองและพลังสร้างสรรค์ของอดีตพนักงานได้ หากทว่าบริษัทสามารถพัฒนาโครงการที่ท้าทายความสามารถในการสร้างสรรค์แล้ว ก็ย่อมเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้อดีตพนักงานเข้ามามีส่วนร่วม โดยอาจเป็นสัญญาจ้างงานชั่วคราวหรือการคิดค่าจ้างเป็นรายชิ้นงาน ก็ย่อมสุดแล้วแต่ความเหมาะสมของโครงการนั้น

   การพัฒนาสภาวะแวดล้อม (Creative Ecology) เพื่อดึงดูดให้ Creative Talent เข้าร่วมกันผลิตสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Product) ของบริษัท จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าระบบพนักงานประจำแบบเดิม โดยเฉพาะเมื่อวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสร้างสรรค์ คือ ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและกว้างขวางเกินกว่าทรัพยากรที่จำกัดของบริษัท ดังนั้น บริษัทที่เปิดกว้างและสามารถสร้างเครือข่ายข้อมูลและทรัพยากรมนุษย์ที่หลากหลายรุ่มรวยทั่วทุกมุมโลก ก็ย่อมประสบความสำเร็จเหนือคู่แข่งในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์

   ลักษณะพิเศษของเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสารและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็คือ ทรัพยากรข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งใช้ก็ยิ่งเพิ่มพูน ยิ่งแลกเปลี่ยนก็ยิ่งเฉียบคม ดังนั้น บริษัทที่มีมุมมองแบบยุคอุตสาหกรรมที่ถือว่าข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานทุกชิ้น คือ ความลับของบริษัท ก็ย่อมไม่สามารถสร้างแลกเปลี่ยนและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์กับเครือข่ายการสร้างสรรค์ระดับโลกได้ สุดท้ายจึงทำให้บริษัทที่มีวิสัยทัศน์แบบ “เครือข่ายสร้างสรรค์ (Creative Network)” สามารถใช้ประโยชน์จากการหยิมยืมแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์กับโลกภายนอก ได้กลายเป็นผู้ชนะแห่งเกมสงครามเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในที่สุด

   Facebook ย่อมเป็นตัวอย่างล้ำเลิศของการระดมเครือข่ายข้อมูลและทรัพยากรมนุษย์จากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะความกล้าหาญในการเปิดโอกาสให้บริษัทและนักสร้างสรรค์ทั้งหลายสามารถนำแอพพลิเคชั่นที่หลากหลายมาบริการให้กับสมาชิกในเครือข่ายทั้งหมด นี่จึงเป็นสาเหตุให้ยอดสมาชิกของ Facebook เพิ่มล้ำนำหน้าคู่แข่งอย่าง MySpace ไปหลายช่วงตัว โดยล่าสุดยอดผู้ใช้ได้ทะลุ 500 ล้านคน ซึ่งทำให้การประเมินมูลค่ากิจการของ Facebook ได้ขยับเพิ่มสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐโดยประมาณ

   ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่และร่ำรวย ย่อมหนีไม่พ้นการผูกขาดบางสิ่งบางอย่างที่คู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้ตั้งแต่เทคโนโลยีกระทั่งถึงทำเลที่ตั้ง จึงทำให้เกิดความสงสัยได้ว่า หากเปิดโอกาสให้พนักงานได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์กับบริษัทอื่นอย่างเสรีแล้ว บริษัทก็ย่อมไม่สามารถรักษาเครื่องมือแห่งการผูกขาดได้อีกต่อไป

   ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในการสร้างภาวะผูกขาดของธุรกิจในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงเป็นการบริหารภาวะผูกขาดท่ามกลางทรัพยากรที่ไม่ผูกขาด นั่นคือ การบริหารและสร้างสรรค์ระบบแห่งคุณค่าที่ทำให้ข้อมูลและทรัพยากรมนุษย์ซึ่งไหลเข้ามาในระบบได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์อย่างมีคุณภาพ ที่นำไปสู่การสร้างและบริโภคผลิตภัณฑ์ชั้นเลิศในท้ายที่สุด

   การย้ายสถานที่ทำงานจากบริษัทหนึ่งไปยังบริษัทหนึ่งย่อมเป็นไปอย่างรวดเร็ว หากปัจจัยดึงดูดของบริษัทมีเพียงแค่สิ่งเดียวคือ “เงิน” เพราะบริษัทคู่แข่งย่อมสามารถยื่นข้อเสนอที่สูงกว่าได้ ในทางตรงข้าม การย้ายจากเครือข่ายสังคม Facebook ไปยังเครือข่ายสังคม MySpace อาจเป็นเรื่องที่ยากเย็นยิ่งกว่าการย้ายบริษัท เนื่องจากสิ่งที่ดึงดูดและผูกพันตัวเราไว้คือ กลุ่มเพื่อนและบุคคลอื่นในเครือข่ายที่น่าสนใจ ซึ่งการหลอกล่อโน้มน้าวบุคคลจำนวนมากและเต็มไปด้วยความหลากหลายให้ย้ายตามไปด้วยย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

   Creative Economy คือ ระบบที่ขับเคลื่อนด้วยการไหลเวียนแลกเปลี่ยนของข้อมูลและทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น การพยายามผูกขาดข้อมูลหรือทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดอย่างยิ่งยวด ในทางตรงข้าม การบริหารจัดการเครือข่ายทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้ทุกคนในเครือข่ายได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งในรูปผลตอบแทนทางวัตถุ ผลตอบแทนทางจิตใจ และผลตอบแทนในการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ก็ย่อมทำให้บริษัทสามารถผูกขาดกระบวนการในการผลิตสินค้าสร้างสรรค์ได้เหนือกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะการดึงตัว Creative Talent ออกไปจากเครือข่ายย่อมมีโอกาสล้มเหลวสูงมาก เนื่องจากพลังสร้างสรรค์ของ Creative Talent ไม่ได้เกิดจากความสามารถส่วนตัวเท่านั้น หากยังต้องพึ่งพาข้อมูลและทรัพยากรมนุษย์ที่เชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อนในเครือข่ายอีกด้วย

   ประเทศไทยนับจากอดีตจวบจนปัจจุบัน ไม่ใช่ดินแดนแห่งการผลิตสินค้าที่ยิ่งใหญ่ หากทว่าเป็นดินแดนแห่งการค้าที่เต็มไปด้วยการสัญจรไปมาของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติวัฒนธรรม นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยมีลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใส มีจิตใจบริการและยืดหยุ่นในความสัมพันธ์ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่คนไทยจะประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์ Talent Management ซึ่งเป็นวิธีการบริหารข้อมูลและผู้คนที่หลากหลายให้กลายเป็น “เครือข่ายสร้างสรรค์” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย(Creative Economy) ให้เหนือกว่าประเทศทั้งหลายที่ยังยึดมั่นถือมั่นในโลกทัศน์และการแสวงหาผลกำไรแบบเดิม

Tag : สรรหาคน สรรหาพนักงาน หาคนทำงาน หาคน ทรัพยากรบุคคล หาแรงงาน ให้คำปรึกษาทรัพยากรบุคคล HRConsultant HRConsult HR HROutsource Training TrainingOutsource Talentmanagement เทรนนิ่งพนักงาน #คอร์สอบรม หลักสูตรฝึกอบรม ฝึกอบรมกลุ่มใหญ่ บริการเอาท์ซอร์ส รับทำเงินเดือน ประมวลเงินเดือน หาพนักงานประจำ หาพนักงานชั่วคราว พาร์ทไทม์ หาคนช่วยงาน หากำลังเสริม จัดหาบุคลากร จัดหาคน บริษัทจัดหาคน บริษัทจัดหาพนักงาน #หาบุคลากร  กลยุทธ์ทรัพยากรบุคคล การตลาดออนไลน์ Surveymarket ขายออนไลน์มืออาชีพ ฝึกอบรม ฝึกอบรมผู้บริหาร หลักสูตรการขาย นักขายมือโปร GenZManpower GenZ หาคนทำงานแบบการันตี ต้องการพนักงานจำนวนมาก บริการงานOutsource จัดหาคนสำหรับองค์กร #ระบบจ้างคนคุณภาพ Recruitment สรรหาคนเก่ง HRLegal บริการทรัพยากร ช่วยหางาน ช่วยหาคนทำงาน จัดจ้างพนักงาน หาพนักงานที่ใช่ หาคนเก่งถึกทน หาคนทำงานได้ที่ไหน พนักงานคุณภาพ Headhunting RecriutmentAgency Headhunters Headhunter Headhunterในไทย บริษัทHeadhunter รายชื่อบริษัทจัดหางาน

Share This Post

Share on facebook
Share on twitter
Share on whatsapp
Share on google
Share on email

More
articles